มะเร็งที่กระดูกขากรรไกร : มะเร็งมีจุดกำเนิดจากเซลล์สร้างฟัน

บทความ

มะเร็งที่กระดูกขากรรไกร : มะเร็งมีจุดกำเนิดจากเซลล์สร้างฟัน

มะเร็งมีจุดกำเนิดจากเซลล์สร้างฟัน (malignant odontogenic tumor; MOT) ที่เกิดขึ้นในกระดูกขากรรไกรพบได้ไม่บ่อย ใน WHO classification of head and neck tumors ค.ศ. 2005 ได้แบ่ง MOT ออกเป็น 2 กลุ่ม คือ odontogenic carcinoma และ odontogenic sarcoma ตามแสดงในตารางที่ 1 MOT ส่วนใหญ่เป็นชนิด carcinoma โดยพบประมาณร้อยละ 95 ของ MOT ทั้งหมด [1] ถึงแม้ว่า MOT จะเป็นมะเร็งชนิดที่พบได้น้อยก็ตาม แต่ก็มีความจำเป็นที่ทันตแพทย์ทั่วไปหรือศัลยแพทย์ช่องปากควรให้ความสนใจเนื่องจากมะเร็งชนิดนี้เกิดเฉพาะที่กระดูกขากรรไกรซึ่งเป็นตำแหน่งที่อยู่ในขอบเขตการดูแลของทันตแพทย์ สาเหตุและพยาธิกำเนิดของมะเร็งที่มีจุดกำเนิดจากเซลล์สร้างฟันยังไม่ทราบแน่ชัด [2] โดยทั่วไปเชื่อว่ามะเร็งในกลุ่มนี้มีกำเนิดมาจากเซลล์ที่เกี่ยวข้องกับการสร้างฟันที่หลงเหลืออยู่ เช่น reduced enamel epithelium, epithelial rests of Malassez, rest dental lamina แต่กลไกในการเกิดยังไม่มีการอธิบายอย่างชัดเจน นอกจากนี้มีรายงานพบว่ามะเร็งในกลุ่มนี้บางชนิดอาจจะเกิดจากถุงน้ำหรือเนื้องอกไม่ร้ายที่มีจุดกำเนิดจากเซลล์สร้างฟันได้ เช่น primary intraosseous squamous cell carcinoma ที่เกิดมาจากผนังเยื่อบุของถุงน้ำ เป็นต้น [3] โดยทั่วไป MOT เป็นมะเร็งที่มีพฤติกรรมรุนแรงเฉพาะที่ มีแนวโน้มเกิดซ้ำได้บ่อย อาการทางคลินิกของแต่ละชนิดมีลักษณะคล้ายกัน คือ ทำให้มีอาการบวมของกระดูกขากรรไกร อาจมีอาการปวดหรือชาร่วมด้วย รักษาด้วยการผ่าตัดออก มีพยากรณ์โรคค่อนข้างไม่ดี ดังนั้น จึงควรได้รับการติดตามผลการรักษาในระยะยาว [1, 3]

ตารางที่ 1 WHO classification of MOTs [2]

Odontogenic carcinomas

  • Metastasizing (malignant) ameloblastoma
  • Ameloblastic carcinoma – primary type
  • Ameloblastic carcinoma – secondary type (dedifferentiated), intraosseous
  • Ameloblastic carcinoma – secondary type (dedifferentiated), peripheral
  • Primary intraosseous squamous cell carcinoma – solid type
  • Primary intraosseous squamous cell carcinoma derived from keratocystic odontogenic tumor
  • Primary intraosseous squamous cell carcinoma derived from odontogenic cysts
  • Clear cell odontogenic carcinoma
  • Ghost cell odontogenic carcinoma

Odontogenic sarcomas

  •  - Ameloblastic fibrosarcoma
  •  - Ameloblastic fibrodentino-and fibro-odontosarcoma

จำนวนรายงานการศึกษาย้อนหลังของ MOT มีปริมาณน้อย [1, 3, 4, 5] จากตารางที่ 2 แสดงข้อมูลจำนวนผู้ป่วยมะเร็งแต่ละชนิดในกลุ่ม MOT ที่เคยมีรายงานในวรรณกรรมที่ทำการศึกษาเฉพาะกลุ่ม MOT จากข้อมูลแสดงในตาราง พบว่า ameloblastic carcinoma เป็น MOT ที่พบได้บ่อยที่สุดในการศึกษาของ Martinez และคณะ (ค.ศ. 2013) และ Chaisuparat และคณะ (ค.ศ. 2012) ในขณะที่ metastasizing ameloblastoma เป็น MOT ที่พบได้บ่อยที่สุดในการศึกษาของ Goldenberg และคณะ (ค.ศ. 2004)

ตารางที่ 2 จำนวนผู้ป่วยมะเร็ง MOTs

 

Martinez et al [1]

Chaisuparat et al [3]

Goldenberg et al [4]

Mosqueda et al [5]

MA

0

0

4

2

AC

8

5

2

0

PISCC

5

3

1

2

CCOC

3

2

0

2

GCOC

3

0

1

0

AF

6

0

0

2

MA, Metastasizing (malignant) ameloblastoma; AC, Ameloblastic carcinoma; PISCC, Primary intraosseous squamous cell carcinoma; CCOC, Clear cell odontogenic carcinoma; GCOC, Ghost cell odontogenic carcinoma; AF, Ameloblastic fibrosarcoma

Chaisuparat และคณะ (ค.ศ. 2012) ทำการศึกษาข้อมูลย้อนหลังจากหน่วยบริการวินิจฉัยโรคจากชิ้นเนื้อเยื่อ ภาควิชาทันตพยาธิวิทยา คณะทันตแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ระยะเวลาที่ทำการศึกษาตั้งแต่ พ.ศ. 2534 - 2553 รายงานพบผู้ป่วย MOT เพียงร้อยละ 0.11 ของชิ้นเนื้อทั้งหมดที่ส่งตรวจ จากการศึกษานี้นอกจากพบมะเร็งตามที่แสดงไว้ในตารางที่ 2 ได้แก่ ameloblastic carcinoma, primary intraosseous squamous cell carcinoma, clear cell odontogenic carcinoma แล้ว ยังได้รวมเอา intraosseous mucoepidermoid carcinoma เอาไว้ด้วย ถึงแม้ว่ามะเร็งชนิดนี้จะไม่ได้รวมอยู่ใน WHO classification ก็ตาม [3]


เอกสารอ้างอิง

  1. Martinez Martinez M, Mosqueda-Taylor A, Carlos R, Delgado-Azanero W, de Almeida O. Malignant odontogenic tumors: a multicentric Latin American study of 25 cases. Oral Dis 2013, doi: 10.1111/odi.12130
  2. Barnes L, Eveson JW, Reichart P, Sidransky D. World Health Oraganization Classification of Tumour- Head and Neck Tumors. Lyon; 2005.
  3. Chaisuparat R, Sawangarun W, Scheper MA. A clinicopathological study of malignant odontogenic tumours. Histopathology 2012,61:107-112.
  4. Goldenberg D, Sciubba J, Koch W, Tufano RP. Malignant odontogenic tumors: a 22-year experience. Laryngoscope 2004,114:1770-1774.
  5. Mosqueda Taylor A, Meneses Garcia A, Ruiz Godoy Rivera LM, Suarez Roa Mde L, Luna Ortiz K. Malignant odontogenic tumors. A retrospective and collaborative study of seven cases. Med Oral 2003,8:110-121.

ผู้เขียน/ผู้จัดทำ

รศ.ทญ.ดร.ริสา ชัยศุภรัตน์

แบบทดสอบ