ซิลเวอร์ไดเอมีนฟลูออไรด์เพื่อป้องกันฟันผุ

บทความ

ซิลเวอร์ไดเอมีนฟลูออไรด์เพื่อการหยุดยั้งและป้องกันฟันผุ

สารซิลเวอร์ไดเอมีนฟลูออไรด์เป็นฟลูออไรด์เฉพาะที่ที่ใช้โดยทันตบุคลากรและมีการใช้มากขึ้นในหลายประเทศ แต่ในประเทศไทยยังไม่เป็นที่รู้จักกันแพร่หลาย

กลไกการยั้งการหยุดยั้งฟันผุของซิลเวอร์ไดเอมีนฟลูออไรด์

สารซิลเวอร์ไดเอมีนฟลูออไรด์มีสูตรทางเคมีคือ Ag(NH3)2F ทำปฏิกิริยากับแร่ธาตุของฟันคือไฮดรอกซีอะพาไทท์(Ca10(PO4)6(OH)2)  เกิดแคลเซียมฟลูออไรด์ (CaF2) และซิลเวอร์ฟอสเฟต (Ag3PO4) ซึ่งมีผลทำให้เกิดการป้องกัน และทำให้รอยผุมีความแข็งขึ้น

โดยสมการเคมีปฏิกิริยาระหว่างซิลเวอร์ไดเอมีนฟลูออไรด์(Ag(NH3)2F)กับ ไฮดรอกซีอะพาไทท์(Ca10(PO4)6(OH)2) มีดังนี้

Ca10(PO4)6(OH)2+ Ag(NH3)2F → CaF2+ Ag3PO4+NH4OH

โดยแคลเซียมฟลูออไรด์(CaF2)ที่เกิดขึ้นจะเป็นตัวเก็บฟลูออไรด์ไว้ และเป็นสารตั้งต้นในปฏิกิริยาเพื่อปรับเปลี่ยนไฮดรอกซีอะพาไทท์ให้เป็นฟลูออโรอะพาไทท์ ซึ่งเป็นสารประกอบที่มีความต้านทานต่อภาวะเป็นกรด ส่วนสารซิลเวอร์ฟอสเฟตที่เกิดขึ้นนั้นเป็นสารไม่ละลายน้ำ ก็จะตกตะกอนและทำปฏิกิริยากับโปรตีนในเนื้อฟันผุเกิดเป็นซิลเวอร์โปรตีน ซึ่งเป็นส่วนที่มีฤทธิ์ต่อต้านเชื้อแบคทีเรียโดยมีคุณสมบัติ คือยับยั้งเอนไซม์และชักนำให้เกิดการจับตัวเป็นก้อนของสายน้ำตาลเด็กแทรนในส่วนที่มีฤทธิ์ทำให้เกิดฟันผุของเชื้อ S.mutan โดยกระบวนการคือทำให้เกิดการทำลายโครงสร้างของผนังเซลล์แบคทีเรีย ทำให้เกิดกระบวนการ denaturation ของ cytoplasmic enzyme และยับยั้งกระบวนการ replication ของ DNA ในเชื้อแบคทีเรีย

วิธีการใช้

ฟันที่จะทำการทาต้องกำจัดเศษอาหาร และคราบจุลินทรีย์ที่อยู่ในโพรงฟันผุออก หรือขัดฟัน ด้วยผงขัด แล้วล้างด้วยน้ำเปล่า ทำให้ฟันแห้งด้วยการเช็ดด้วยสำลี หรือทำการเป่าให้แห้ง แต่ไม่จำเป็นต้องกำจัดเนื้อฟันผุที่อ่อนนิ่มออก การทาจะใช้หัวแปรงชนิด micro brush ชุปสารซิลเวอร์ไดเอมีนฟลูออไรด์ แล้วถูเบาๆในบริเวณรอยผุ โดยเวลาที่ใช้ทาประมาณ 30 วินาที ถึง 3 นาที ขึ้นอยู่กับความร่วมมือของผู้ป่วยและจำนวนซี่ฟันที่ทา โดยสารซิลเวอร์ไดเอมีนฟลูออไรด์ 1 หยด จะสามารถทาได้ ประมาณ 10 รอยโรค หลังจากนั้นเช็ดฟลูออไรด์ส่วนเกินออก  และแนะนำให้ผู้ป่วยห้ามทานอาหาร และบ้วนน้ำประมาณ 30 นาที

ข้อด้อยของซิลเวอร์ไดเอมีนฟลูออไรด์

เมื่อทาลงไปบนรอยโรคฟันผุแล้วบริเวณรอยโรคจะมีติดสีดำ โดยที่เริ่มแรกสีของซิลเวอร์ฟอสเฟตนั้นจะมีสีเหลืองในระยะที่เริ่มก่อตัว และจะเปลี่ยนเป็นสีดำเมื่อโดนแสง ซึ่งข้อด้อยข้อนี้ทำให้เด็กและพ่อแม่บางคนรู้สึกไม่ชอบใจเนื่องจากก่อให้เกิดความไม่สวยงาม

รวมทั้งซิลเวอร์ไดเอมีนฟลูออไรด์สามารถทำให้ผิวหนังและเสื้อผ้าติดสีซึ่งล้างและซักไม่ออก โดยสาเหตุเกิดจากสารชนิดนี้ตกใส่ผิวหนังหรือเสื้อผ้า แต่ก็ไม่พบทำให้เกิดความเจ็บปวดใดๆเมื่อถูกผิวหนังรวมทั้งพบว่าบางครั้งซิลเวอร์ไดเอมีนฟลูออไรด์ สามารถทำให้เหงือกและเนื้อเยื่อในช่องปากเกิดการระคายเคืองได้ ซึ่งจะมีลักษณะของเนื้อเยื่อเปลี่ยนเป็นสีขาว แต่ลักษณะดังกล่าวก็จะเป็นเพียงชั่วคราวเท่านั้น

ซิลเวอร์ไดเอมีนฟลูออไรด์ ทำให้เกิดความรู้สึกรับรสแบบ Metallic taste ซึ่งอาจจะก่อให้เกิดความรู้สึกไม่ชอบได้

และข้อควรระวังการใช้คือห้ามทาในฟันผุที่ทะลุโพรงประสาทฟัน ฟันที่เคยมีประวัติการปวด บวม รวมทั้งฟันที่สงสัยว่าจะทะลุโพรงประสาทไปแล้ว เนื่องจากการที่ซิลเวอร์ไดเอมีนฟลูออไรด์ส่งเสริมการกลับคืนของแร่ธาตุทำให้เกิดชั้นเนื้อฟันที่แข็งและปิดทางเข้าออกของเชื้อในโพรงประสาทได้ อาจทำให้เชื้อในโพรงประสาทฟันมีการเพิ่มจำนวนมากขึ้นและเกิดอาการปวดได้ แต่กรณีมีอาการปวดเกิดขึ้นก็สามารถรักษาโพรงประสาทฟันตามปกติได้

ในประเทศไทยความเข้มข้นของซิลเวอร์ฟลูออไรด์ที่มีการใช้นั้นอยู่ที่ ร้อยละ 38 ซึ่งมีฟลูออไรด์เป็นส่วนประกอบ 44,800 ส่วนในล้านส่วน จากการทบทวนวรรณกรรมพบว่ามีการทา 1-2 ครั้งต่อปี ประสิทธิผลในการหยุดยั้งฟันผุในฟันน้ำนมพบถึงร้อยละ 70- 90


เอกสารอ้างอิง

Wongsupa P, Tianviwat S, Hintao J. Silver diamine fluoride for arresting dental caries in deciduous teeth. Chulalongkorn University Dental Journal 2014;37(3).371-80.


ผู้เขียน/ผู้จัดทำ

Wongsupa P
Tianviwat S
Hintao J.