การแนะนำผู้ป่วยให้ใช้ฟลูออไรด์ด้วยตนเอง

บทความ

การแนะนำผู้ป่วยให้ใช้ฟลูออไรด์ด้วยตนเอง

ศ(พิเศษ) ทพญ. ชุติมา ไตรรัตน์วรกุล

 

ปัจจุบันเป็นที่ทราบแน่ชัดแล้วว่าฟลูออไรด์ที่ใช้ในช่องปากสามารถหยุดยั้งกระบวนการผุของฟันหรือชะลอการผุลุกลาม ซึ่งกระบวนการนี้เกิดจากการใช้ฟลูออไรด์เฉพาะที่ กลไกสำคัญของฟลูออไรด์คือการยกระดับฟลูออไรด์ในน้ำลายให้สูงขึ้น แล้วจึงไปสะสมอยู่ในคราบจุลินทรีย์ที่ผิวฟันและจะส่งผ่านจากของเหลวในคราบจุลินทรีย์ ซึมเข้าผิวฟันไปที่ผลึกเคลือบฟันโดยผ่านของเหลวระหว่างผลึก เมื่อผิวผลึกมีฟลูออไรด์หนาแน่นและมีระดับสูงขึ้นเกาะอยู่ จะยับยั้งกระบวนการสูญเสียแร่ธาตุและส่งเสริมการคืนกลับแร่ธาตุ

 

เมื่อใช้ผลิตภัณฑ์ฟลูออไรด์จะทำให้น้ำลายมีระดับฟลูออไรด์สูงสุดภายใน 15 นาทีและค่อยๆลดลง ที่ 30 นาทียังมีระดับฟลูออไรด์สูงอยู่ หลังจากนั้นระดับฟลูออไรด์จะค่อยๆลดลงเนื่องจากยังมีฟลูออไรด์ที่เกาะอยู่กับเนื้อเยื่ออ่อนในช่องปากและปล่อยฟลูออไรด์เข้าสู่น้ำลายไปเรื่อยๆจนถึงระดับปกติที่ประมาณ 2 ชั่วโมง

 

หลักการในการใช้ผลิตภัณฑ์ฟลูออไรด์

1. พิจารณาจากแบบประเมินว่าผู้ป่วยจัดอยู่ในกลุ่มเสี่ยงสูงต่อโรคฟันผุหรือเสี่ยงต่ำ ตัวอย่างของผู้ป่วยมีความเสี่ยงสูง เช่น ผู้ป่วยที่ได้รับยาหรือมีภาวะที่ทำให้น้ำลายไหลลดลง มีการหลั่งน้อย มีความบกพร่องทำให้การทำความสะอาดช่องปากมีประสิทธิภาพลดลง มีฟันผุเป็นรู หรือพบรอยโรคขุ่นขาวที่มีการดำเนินโรค หรือพบฟันผุจากภาพรังสี ฯลฯ รับประทานอาหารว่างหรือเครื่องดื่มระหว่างมื้อที่มีน้ำตาลตั้งแต่สองครั้งต่อวันขึ้นไป (ศึกษาเพิ่มเติมได้จากแบบประเมินของสมาคมทันตแพทย์แห่งประเทศไทย 2565 )

2. ไม่บ้วนน้ำดื่มน้ำหรือรับประทานอาหารใดๆ 30 นาที ผลิตภัณฑ์ที่ต้องบ้วนทิ้ง ให้คายหรือถ่มทิ้งให้มากที่สุดโดยไม่กลั้วน้ำจะเกิดประสิทธิผลสูงสุด

ยาสีฟันผสมฟลูออไรด์

แนะนำให้ใช้ยาสีฟันผสมฟลูออไรด์ความเข้มข้น 1000 พีพีเอ็มในเด็กอายุต่ำกว่า 6 ปีที่มีความเสี่ยงต่ำ สำหรับผู้ที่มีความเสี่ยงสูงต่อโรคฟันผุหรืออายุ 6 ปีขึ้นไปและผู้ใหญ่ทุกคน แนะนำให้ใช้ความเข้มข้นฟลูออไรด์ 1500 พีพีเอ็ม โดยปริมาณที่ใช้แนะนำตามภาพที่แสดง

ภาพปริมาณยาสีฟันที่แนะนำตามช่วงอายุ

         อายุ

ขนาด

ภาพปริมาณที่แนะนำ*

 ฟันซี่แรกถึง 3 ปี

เมล็ดข้าว

 3 ถึง 6 ปี

เมล็ดข้าวโพด

 6 ปีขึ้นไป

เต็มหน้าแปรง

* ใช้สองครั้งต่อวันหลังอาหารเช้าและก่อนนอน ในทารกและเด็กวัยเตาะแตะให้แปรงช่วงอาบน้ำเช้าและเย็น ในเด็กต่ำกว่า 6 ปีที่ยังคายยาสีฟันไม่เป็น ผู้ปกครองต้องเช็ดฟองออก

 

น้ำยาบ้วนปากฟลูออไรด์

แนะนำให้ใช้น้ำยาบ้วนปากฟลูออไรด์ในผู้ที่มีความเสี่ยงต่อโรคฟันผุ โดยเฉพาะผู้ป่วยที่มีฟันผุจุดขาวเพิ่มจากการแปรงฟันวันละสองครั้งด้วยยาสีฟันผสมฟลูออไรด์

น้ำยาบ้วนปากมีสองชนิดคือ

1. 0.05% หรือ 225 พีพีเอ็ม มีจำหน่ายทั่วไปในท้องตลาดสามารถซื้อหาได้เอง วิธีใช้ ใช้ 5-10 มิลลิลิตร อมไว้อย่างน้อย 1 นาที วันละอย่างน้อยหนึ่งครั้ง ก่อนนอน ห่างจากการแปรงฟัน 30 นาทีหรือบ้วนในช่วงหลังอาหารกลางวันหรือหลังอาหารว่างช่วงบ่ายในเด็กอายุ 6 ปีขึ้นไป

การศึกษาในรอยผุจำลองที่ใส่ไว้ในช่องปากพบว่าเมื่ออาสาสมัครกลุ่มเสี่ยงสูงต่อโรคฟันผุ ใช้น้ำยาบ้วนปากสองครั้งต่อวัน เสริมจากการแปรงฟันด้วยยาสีฟันฟลูออไรด์เช้าและเย็น สามารถเพิ่มการคืนกลับแร่ธาตุในรอยผุจำลองได้มากกว่าการใช้น้ำยาบ้วนปากวันละครั้ง

2. ชนิด 0.2% หรือ 900 พีพีเอ็มแนะนำให้ใช้สัปดาห์ละหนึ่งครั้ง หรือทุกสองสัปดาห์ มักทำในโครงการบ้วนปากด้วยฟลูออไรด์ในโรงเรียน

น้ำยาบ้วนปากทั้งสองชนิดควรเลือกชนิดที่ไม่มีแอลกอฮอล์ นอกจากนี้ยังมีการศึกษาที่พบว่าสามารถใช้ไม้พันสำลีขนาดใหญ่จุ่มน้ำยาบ้วนปากผสมฟลูออไรด์ 2 มิลลิลิตรทาฟันและเนื้อเยื่ออ่อนในช่องปาก จะได้รับฟลูออไรด์ที่คงค้างในน้ำลายเท่ากับการบ้วนน้ำยาฟลูออไรด์ 10 มิลลิลิตรและบ้วนออก ดังนั้นวิธีนี้จึงสามารถนำไปใช้ได้กับผู้ป่วยที่อยู่ในภาวะพึ่งพาหรือติดเตียงโดยมีข้อดีคือไม่มีน้ำยาส่วนเกินที่ต้องบ้วนออก

 

เคล็ดลับในการใช้ฟลูออไรด์

1. ใช้ผลิตภัณฑ์ในปริมาณและความถี่ตามที่กำหนดไว้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งยาสีฟันต้องใช้ทุกวันตลอดชีวิตเพื่อให้ผลป้องกันฟันผุสูงสุด

2. หลังใช้ผลิตภัณฑ์งดดื่มน้ำบ้วนน้ำหรือรับประทานอาหารอย่างน้อย 30 นาทีเพื่อป้องกันฟลูออไรด์ถูกชะล้างออกจากช่องปาก

3. หากใช้ฟลูออไรด์สองชนิดร่วมกัน ควรให้ห่างกันอย่างน้อย 30 นาทีถึง 2 ชั่วโมง จะมีประสิทธิภาพสูงกว่าการใช้พร้อมกัน

4. ยาสีฟันฟลูออไรด์จะคงค้างนานที่สุดในช่องปากหากไม่บ้วนน้ำ ควรถ่มฟองทิ้ง เพราะการบ้วนน้ำเพียง 5 มิลลิลิตรจะลดระดับฟลูออไรด์ในน้ำลายลงครึ่งหนึ่ง

5. เก็บฟลูออไรด์ให้พ้นมือเด็ก ไม่ให้หยิบมารับประทานเองได้ เพราะจะเกิดพิษเฉียบพลันรุนแรงถึงชีวิตได้ และไม่ให้เด็กใช้ผลิตภัณฑ์ฟลูออไรด์เอง

     6. ในการแปรงฟันเด็ก ผู้ปกครองควรใช้ผ้าชื้นเช็ดฟองออกตั้งแต่ฟันซี่แรกขึ้นจนถึงวัยที่เด็กจะคายฟองออกเองได้

ภาพประกอบ


เอกสารอ้างอิง

เอกสารอ้างอิง

 

แนวทางการใช้ฟลูออไรด์ ทันตแพทยสมาคม 2565

แนวทางการประเมินความเสี่ยงต่อโรคฟันผุ ทันตแพทยสมาคม 2565

Songsiripradubboon S, Hamba H, Trairatvorakul C, Tagami J. Sodium fluoride mouthrinse used twice daily increased incipient caries lesion remineralization in an in situ model. J Dent. 2014 Mar;42(3):271-8. doi: 10.1016/j.jdent.2013.12.012. Epub 2014 Jan 3.

Rattanawiboon C, Chaweewannakorn C, Saisakphong T, Kasevayuth K, Trairatvorakul C. Effective Fluoride Mouthwash Delivery Methods as an Alternative to Rinsing. Nurs Res. 2016 Jan-Feb;65(1):68-75. doi: 10.1097/NNR.0000000000000131.


ผู้เขียน/ผู้จัดทำ

ศ(พิเศษ) ทพญ. ชุติมา ไตรรัตน์วรกุล