ฝีปริทันต์ (Periodontal abscess)

บทความ

ฝีปริทันต์ (Periodontal abscess)

ฝีปริทันต์ (Periodontal abscess) เป็นสภาวะของอวัยวะปริทันต์ที่ถูกทำลายอย่างรวดเร็วซึ่งมักจะนำให้ผู้ป่วยมารับการรักษาในขณะที่เรายังสามารถเห็นการเกิดโรคอย่างชัดเจน มีผู้ให้คำจำกัดความไว้ว่า “เป็นรอยโรคที่มีการทำลายอวัยวะปริทันต์เกิดขึ้นในช่วงเวลาที่จำกัดและพบเห็นได้โดยง่ายจากการตรวจช่องปากโดยมีการสะสมของหนอง (pus) ภายใต้ผนังของเหงือกของร่องลึกปริทันต์” มีรายงานความชุกของการเกิดฝีปริทันต์ที่ 8-14% ซึ่งจัดเป็นอันดับสามของสภาวะฉุกเฉินทางทันตกรรมทั้งหมด โดยพบได้ในทุกช่วงของการรักษาโรคปริทันต์ ทั้งนี้ประมาณ 30% ของผู้ป่วยที่ถูกวินิจฉัยว่าเป็นโรคปริทันต์อักเสบ ประมาณ 15% ของผู้ป่วยที่กำลังรับการรักษา ประมาณ 40% ของผู้ป่วยที่อยู่ในช่วงการรักษาประคับประคองและประมาณ 4% ของผู้ป่วยที่มีการรักษาเสร็จสมบูรณ์แล้วนั้นพบว่ามีการเกิดฝีปริทันต์ขึ้น โดยมีรายงานว่าประมาณ 60% ของร่องลึกปริทันต์ที่มีความลึกมากกว่า 6 มม.เมื่อเริ่มรักษาสามารถพบฝีปริทันต์ได้

สาเหตุการเกิด แยกออกเป็นสองกรณีดังนี้

  • กรณีที่พบว่ามีการเกิดโรคปริทันต์อักเสบ สาเหตุอาจมาจากการหลงเหลืออยู่ของร่องลึกปริทันต์ที่คดเคี้ยว การมีการปิดของปากร่องลึกปริทันต์ ในกรณีของการเกิดฝีปริทันต์ในระหว่างการรักษานั้นมักมีสาเหตุมาจากการหลงเหลืออยู่ของหินน้ำลายในร่องลึกปริทันต์ที่ลึกมากๆภายหลังการขูดหินน้ำลายหรืออาจมีการผลการผลักดันเอาหินน้ำลายเข้าไปในเนื้อเยื่อหรือการได้รับยาปฏิชีวนะทางระบบโดยไม่ได้ให้การขูดหินน้ำลายและเกลารากฟันใต้เหงือก (subgingival debridement) นอกจากนี้มีรายงานการเกิดฝีปริทันต์ภายหลังการได้รับยา nifedipine
  • กรณีที่ไม่พบว่ามีการเกิดโรคปริทันต์อักเสบ สาเหตุอาจมาจากมีการติดอัดของสิ่งแปลกปลอม (impactation of foreign bodies) การเกิด perforation ของผนังคลองรากจากการรักษาคลองรากฟัน การเกิดมี lateral cysts การมี local factor ที่ทำให้มีการเปลี่ยนแปลงรูปร่างของรากฟัน (eg. cemental tear, root resorption, invaginated tooth, cracked tooth)

การวินิจฉัย

การตรวจช่องปากจะพบการยกตัวของเหงือกด้านข้างของฟันเป็นรูปไข่ อาการมีตั้งแต่รำคาญเล็กน้อยจนถึงเจ็บมาก มีการกดเจ็บและปวดบวมของเหงือก ฟันโยกและลอยตัวขึ้นรวมถึงมีการเจ็บฟันเมื่อสัมผัสถูกและมีกลิ่นปาก ผู้ป่วยอาจมีไข้ อ่อนเพลีย เม็ดเลือดขาวสูงและมีการบวมของต่อมน้ำเหลือง การตรวจทางภาพรังสีอาจพบมีลักษณะปกติหรือพบมีการละลายของกระดูกเบ้าฟัน ประวัติทางทันตกรรมในบริเวณที่เกิดฝีปริทันต์มีส่วนในการบ่งชี้ต้นเหตุของการเกิดฝีปริทันต์ เช่น ประวัติการรักษาทางปริทันต์ การรักษาคลองรากฟันหรือการเคยเกิดฝีปริทันต์มาก่อนซึ่งมีความสำคัญต่อการให้การรักษาที่เหมาะสม

การจำแนกประเภทของฝีปริทันต์

  1. จำแนกตามตำแหน่ง
    • Gingival abscess เป็นการบวมและเจ็บเฉพาะตำแหน่งโดยจะจำกัดอยู่ที่ marginal และ interdental gingiva โดยมีสาเหตุหลักจากการมี impaction of foreign objects
    • Periodontal abscess เป็นการบวมและเจ็บของเหงือกเช่นเดียวกับ gingival abscess แต่จะเกี่ยวข้องกับอวัยวะปริทันต์ที่อยู่ลึกลงไปและอยู่เลยระดับของ mucegingival line โดยมักจะเกิดร่วมกับการมี deep pockets, furcation involvement และ vertical ossesous defects
  2. จำแนกตามระยะเวลาการเกิดโรค
    • Acute periodontal abscess ลักษณะของโรคประกอบด้วยการกดเจ็บ มีอาการตึงและมีหนอง
    • Chronic periodontal abscess มักเกิดร่วมกับการมี sinus tract และไม่ปรากฏอาการทางคลินิก
  3. จำแนกตามจำนวน
    • Single periodontal abscess เกี่ยวข้องกับการมีปัจจัยเฉพาะที่และเกิดเป็น abscessจากการมีการขัดขวางการระบายทาง periodontal pocket
    • Multiple periodontal abscess มักเกิดขึ้นในกรณีที่ผู้ป่วยมีโรคทางระบบ (medically compromised) และผู้ป่วยโรคปริทันต์ที่ไม่ได้รับการรักษาที่ได้รับ systemic antibiotics เพื่อรักษาโรคอื่นๆ ทั้งนี้ยังพบว่าเกิดขึ้นในกรณีที่ผู้ป่วยมี external root resorption

การวินิจฉัยแยกโรค ทำได้โดยอาศัยความแตกต่างของอาการและอาการแสดงของผู้ป่วยจากการทำ pulp vitality test ตรวจฟันผุและร่องลึกปริทันต์ ตำแหน่งของ abscess และการตรวจทางภาพรังสี การรักษา มีการนำเสนอขั้นตอนการให้การรักษาดังนี้

การให้การรักษา gingival abscess

  1. Elimination of foreign objects
  2. Careful thorough debridement
  3. Drainage through sulcus
  4. Rinse with sterile saline
  5. Follow up after 24-48 hours

การให้การรักษา periodontal abscess

  1. Drainage through pocket
  2. Scaling of the tooth surface
  3. Compression and debridement of soft tissue wall
  4. Irrigate with sterile saline
  5. Follow up after 24-48 hours

การให้ยาปฏิชีวนะร่วมในการรักษายังไม่ได้รับการยอมรับอย่างทั่วถึงยกเว้นในบางกรณี

  1. มีภาวะทางระบบเกี่ยวข้องอย่างชัดเจนเช่นการมีไข้และอ่อนเพลียอย่างชัดเจน
  2. จำเป็นต้องมีการให้ pre-medication
  3. เมื่อการติดเชื้อไม่จำกัดอยู่เฉพาะที่

ทั้งนี้ในกรณีที่ไม่สามารถระบายหนองได้อย่างมีประสิทธิภาพหรือขนาดของฝีที่ใหญ่และมีการ บวมขยายวงกว้างและมีอาการปวดที่รุนแรงก็เป็นสภาวะที่จำเป็นต้องมีการให้ยาปฏิชีวนะ

มีคำแนะนำในการให้การรักษาอยู่หลายรูปแบบ

  1. การให้การรักษาแบบผสมผสาน : Basic treatments (incision, drainage, debridement) + antibiotic therapies โดยยาในกลุ่ม penicillins เป็น first drug of choice
  2. การให้การรักษาแบบอนุรักษ์ : เน้นการได้คืนมาของ attachment level ประกอบด้วยการทำ Drainage ผ่านทาง periodontal pocket + ล้างด้วยน้ำเกลือ + supragingival scaling + ให้ tetracycline 1g/day เป็นเวลา 2 สัปดาห์

ในกรณีของผู้ป่วยที่ได้รับการวินิจฉัยว่าเป็น refractory periodontitis มีคำแนะนำโดยให้ทำ full-mouth scaling ร่วมกับการให้ systemic antibiotics (ภายหลังการทำmicrobial susceptibility แล้ว) การให้การรักษาโดยการทำศัลยกรรม (gingivectomy/flap procedure) นั้นแนะนำให้ทำในกรณีของ chronic periodontal abscess ที่มี deep vertical defect หรือกรณีที่มี post-prophylaxis periodontal abscsess (อาจมีการหลงเหลือของหินน้ำลาย)

ความเสี่ยงที่เกี่ยวข้องกับการให้การรักษาฝีปริทันต์ได้แก่การเกิด bacteremia (dissemination of infection) ซึ่งอาจเกิดขึ้นได้ตามหลังการให้การรักษา (following treatment) และที่เกี่ยวข้อง กับฝีที่ไม่ได้รับการรักษา (in relation to an untreated abscess) ดังนั้นมีความจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องประเมินสภาวะทางร่างกายของผู้ป่วยก่อนให้การรักษารวมทั้งประเมิน ความรุนแรงของโรคเมื่อให้การรักษาเพื่อหลีกเลี่ยงการเกิดภาวะแทรกซ้อนนี้

กล่าวได้ว่าฟันที่เกี่ยวข้องกับการเกิดฝีปริทันต์นั้นมีการพยากรณ์โรคที่ไม่ดีและเสี่ยงต่อการสูญเสียฟันเนื่องจากมีหลากหลายสาเหตุของการเกิดฝีปริทันต์ ดังนั้นการตรวจทั้งในช่องปากและการตรวจเสริม (ภาพรังสี การตรวจเชื้อที่เกี่ยวข้อง) และให้การวินิจฉัยสาเหตุก่อโรคเพื่อเลือกวิธีการรักษาที่เหมาะสมและมีประสิทธิภาพและที่ลืมไม่ได้คือการประเมินสภาพร่างกายของผู้ป่วยนั้นมีความสำคัญเป็นอย่างยิ่งในการประสบความสำเร็จในการรักษาและรอดพ้นจากสถานการณ์ที่ไม่พึงประสงค์ ขอให้ทุกคนมีสติรักษาผู้ป่วยอย่างปลอดภัยทุกคนครับ


ผู้เขียน/ผู้จัดทำ

ผศ.ทพ. พีรศุษม์ รอดอนันต์