สุขภาพช่องปากและอายุคาดเฉลี่ยแบบมีสุขภาพดี

บทความ

สุขภาพช่องปากและอายุคาดเฉลี่ยแบบมีสุขภาพดี

โดย ดร.เพ็ญแข ลาภยิ่ง

เป้าหมายด้านสุขภาพไทยคือ คนไทยมีอายุคาดเฉลี่ยแบบมีสุขภาพดี (Health Adjusted Life Expectancy; HALE) 72 ปีใน 20 ปีข้างหน้า ภายใต้การคาดการณ์ว่าประเทศจะเป็นสังคมผู้สูงอายุโดยสมบูรณ์ (Aged Society)[1] ใน พ.ศ. 2568 และในปี 2573 คาดว่าจะมีจำนวนผู้สูงอายุถึง 17.6 ล้านคน (ร้อยละ 26.3 ของประชากรประเทศ)              

โรคในช่องปากที่สำคัญคือ ฟันผุซึ่งเป็นสาเหตุหลักของการสูญเสียฟันของคนไทยเนื่องจากผุแล้วทอดเวลาในการรักษาจนลงเอยที่การถอนฟัน ส่วนโรคปริทันต์อักเสบเริ่มเป็นปัญหาในกลุ่มวัยทำงานตอนปลาย (อายุ 45-59 ปี) และเป็นโรคสำคัญในกลุ่มผู้สูงอายุ  ในเบื้องต้น โรคในช่องปากรบกวนการรับประทานอาหารและภาวะโภชนาการ เพิ่มความเสี่ยงในการเป็นโรคทางระบบ[2,3,4,5]และความจำเสื่อม[6,7]   ส่วนฟันผุในเด็กเล็ก นอกจากจะรบกวนการรับประทานอาหาร การนอน ส่งผลต่อพัฒนาการ[8,9] และคุณภาพชีวิตของเด็กแล้ว[10,11] เชื้อโรคที่สะสมยังทำให้เป็นโรคภูมิแพ้และโรคหัวใจรูมาติกในเด็ก[12] ยังพบว่าฟันน้ำนมผุสัมพันธ์กับการเกิดฟันผุในฟันแท้[13]    ส่วนการสูญเสียฟันในผู้สูงอายุสัมพันธ์กับการบั่นทอนอายุ[14,15,16,17,18]  การสูญเสียฟันแท้ทั้งปากทำให้สูญเสียปีสุขภาพดี (YLD) มากกว่าโรคในช่องปากอื่นๆ และมีการสูญเสียเพิ่มขึ้นใน พ.ศ. 2556 (ตาราง1) การมีจำนวนฟันแท้คงอยู่ในกลุ่มผู้สูงอายุจึงมีผลต่อคุณภาพชีวิตและความยืนยาวของชีวิต[19]  จึงควรดูแลรักษาฟันแท้ไม่ให้สูญเสียในทุกช่วงวัยเพื่อให้มีจำนวนฟันแท้คงเหลือมากที่สุดไปจนถึงช่วงวัยสูงอายุเพื่อเพิ่มอายุคาดเฉลี่ยแบบมีสุขภาพดี

การสำรวจสภาวะทันตสุขภาพแห่งชาติครั้งที่ 7 พ.ศ. 2555[20] พบว่าปัญหาหลักในผู้สูงอายุคือการสูญเสียฟัน ผู้สูงอายุ 60-74 ปี ร้อยละ 88.3 มีการสูญเสียฟันบางส่วนและร้อยละ 7.2 สูญเสียฟันทั้งปาก  โดยผู้อยู่ในเขตเมืองทุกภาคสูญเสียฟันทั้งปากมากกว่าเขตชนบท   ในกรุงเทพมหานครสูญเสียฟันมากกว่าค่าเฉลี่ยประเทศ (ภาพ 1)    มีเพียงร้อยละ 43.3 ที่มีฟันหลังสบกันอย่างน้อย 4 คู่สบซึ่งเพียงพอต่อการบดเคี้ยวได้อย่างมีประสิทธิภาพ ในทางกลับกัน หมายความว่าอีกร้อยละ 56.7 มีปัญหาการบดเคี้ยว   ฟันแท้ที่เหลืออยู่ในช่องปากมีปัญหาโรคปริทันต์อักเสบที่กระดูกรองรับรากฟันถูกทำลายร้อยละ 32.1 โดยร้อยละ 11.4 เป็นโรคปริทันต์อักเสบที่อยู่ในระดับรุนแรงมาก (มีร่องลึกปริทันต์ตั้งแต่ 6 มิลลิเมตรขึ้นไป) ซึ่งเสี่ยงต่อการอักเสบ ปวดบวม ฟันโยกและสูญเสียฟัน   ยังพบฟันผุที่ยังไม่ได้รับการรักษาร้อยละ 48.3 และร้อยละ 17.2 มีรากฟันผุที่สัมพันธ์กับเหงือกร่นซึ่งเป็นปัญหาที่สะสมมาจากช่วงอายุต้นๆ

เด็กเริ่มมีฟันผุตั้งแต่อายุ 8 เดือนซึ่งฟันน้ำนมซี่แรกขึ้นเมื่ออายุ 6 เดือน   จากการสำรวจสภาวะทันตสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ. 2555 พบว่าเด็กอายุ 3 ปีมีฟันน้ำนมผุร้อยละ 51.7 และเพิ่มขึ้นในเด็กอายุ 5 ปี (ร้อยละ 78) ดังภาพ 2   ในฟันแท้พบว่าเริ่มผุที่ฟันกรามซี่ที่หนึ่งซึ่งขึ้นเป็นซี่แรกเมื่ออายุ 6 ปีและเป็นซี่หลักของช่องปาก   โดยร้อยละ 52.3 มีประสบการณ์เป็นโรคฟันผุและความชุกเพิ่มขึ้นเมื่ออายุมากขึ้นเป็นร้อยละ 62, 86 และ 97 ในกลุ่มอายุ 15, 35-44 และ 60-74 ปี ตามลำดับ (ภาพ 3)   วัยทำงานมีฟันครบ 24 ซี่ ร้อยละ 93.3 และในกลุ่มอายุ 60-74 ปี มีเพียงร้อยละ 43.6   โรคปริทันต์เป็นสาเหตุร่วมของการสูญเสียฟันในวัยสูงอายุซึ่งพบร้อยละ 89 และ 92 ในกลุ่มอายุ 60-74 และ 80-89 ปีตามลำดับ [20]    

สุขภาพช่องปากมีความสำคัญในทุกกลุ่มอายุและมีปัจจัยเสี่ยงต่อการเกิดโรคและการสูญเสียฟันได้ทุกช่วงอายุ  การแปรงฟันด้วยยาสีฟันผสมฟลูออไรด์เป็นการดูแลตนเองที่มีประสิทธิภาพสูงที่สุดในทุกกลุ่มวัยแม้ในเด็กกลุ่มที่เสี่ยงสูงต่อโรคฟันผุภายใต้การแนะนำดูแล[1] การส่งเสริมสุขภาพและป้องกันโรคยังมีความสำคัญตั้งแต่ฟันน้ำนมซี่แรก (ลูกรักฟันดีเริ่มที่ซี่แรก)  และป้องกันฟันกรามแท้ซี่แรกผุซึ่งเป็นฟันซี่ที่ 6 ในช่องปาก (save the sixth)   เมื่อประชาชนเป็นโรคในช่องปาก จำเป็นต้องได้รับการรักษาเพื่อหยุดยั้งโรค   

มาตรการในระดับนโยบายที่ครอบคลุมการบริการส่งเสริม ป้องกัน และรักษาเพื่อเก็บฟันในทุกกลุ่มอายุ มีความคุ้มค่าสามารถลดช่องว่างของความไม่เท่าเทียมทางสุขภาพช่องปากได้เพื่อให้ทุกกลุ่มวัยมีสภาวะสุขภาพช่องปากดีอย่างต่อเนื่อง ส่งผลให้คนไทยมีคุณภาพชีวิตที่ดี และมีอายุคาดเฉลี่ยแบบมีสุขภาพดีเพิ่มขึ้น


เอกสารอ้างอิง

  1. หมายถึง สังคมที่มีประชากรอายุ 60 ปีขึ้นไปที่อยู่จริงในพื้นที่ต่อประชากรทุกช่วงอายุในพื้นที่เดียวกัน ในอัตราเท่ากับหรือมากกว่าร้อยละ 20 ขึ้นไป หรือมีประชากรอายุ 65 ปีขึ้นไปที่อยู่จริงในพื้นที่ต่อประชากรทุกช่วงอายุในพื้นที่เดียวกัน ในอัตราเท่ากับหรือมากกว่าร้อยละ 14 ขึ้นไป
  2. Khader YS, Albashaireh ZS, Alomari MA. Periodontal diseases and the risk of coronary heart and  cerebrovascular diseases: a meta-analysis. J Periodontol 2004 Aug; 75(8): 1046-1053.
  3. Grabe HJ, Schwahn C, Völzke H, Spitzer C, Freyberger HJ, John U, Mundt T, Biffar R, Kocher T. Tooth loss and cognitive impairment. J Clin Periodontol 2009; 36: 550-557.
  4. Dietrich T, Sharma P, Walter C, Weston P, Beck J. The epidemiological evidence behind the association between periodontitis and incident atherosclerotic cardiovascular disease. J Periodontol 2013 Apr; 84 (4 Suppl): S70-84.
  5. Stewart R, Sabbah W, Tsakos G, D'Aiuto F, Watt RG. Oral health and cognitive function in the Third National Health and Nutrition Examination Survey (NHANES III). Psychosom Med 2008; 70: 936-941.
  6. Grabe HJ, Schwahn C, Völzke H, Spitzer C, Freyberger HJ, John U, Mundt T, Biffar R, Kocher T. Tooth loss and cognitive impairment. J Clin Periodontol 2009; 36: 550-557.
  7. Kim JM, Stewart R, Prince M, Kim SW, Yang SJ, Shin IS, Yoon JS. Dental health, nutritional status and recent onset dementia in a Korean community population. Int J Geriatr Psychiatry 2007; 22: 850-855.
  8. Acs G, Lodolini G, Kaminsky S, et al. Effect of nursing caries on baby weight in a pediatric population. Pediatr Dent 1992; 14: 302-5.
  9. Ayhan H, Suskan E, Yildrim S. The effect of nursing or rampant caries on height, body weight and head circumference. J Clin Ped Dent 1996; 20: 209-12.
  10.  Feitosa S, Colares V, Pinkham J. The psychosocial effects of severe caries in 4-year-old children in Recife, Pernambuco,Brazil. Cad. Saúde Pública, Rio de Janeiro. 2005, 21(5):1550-6.
  11. Low W, Tan S, Schwartz S. The effect of severe caries on the quality of life in young children. Pediatr Dent 1999; 21:325-6. Deen JL, Vos T, Huttly3SRA, Tulloch J. Injuries and noncommunicable diseases: emerging health problems of children in developing countries. Bulletin of the World Health Organization 1999, 77 (6): 518-24.
  12. Peretz B, Ram D, Azo OE, Efrat Y. Preschool Caries as an Indicator of Future Caries: a Longitudinal Study. Pediatr Dent 2003, 25(2):114-8.
  13. Polzer I, Schwahn C, Völzke H, Mundt T, Biffar R. The association of tooth loss with all-cause and circulatory mortality. Is there a benefit of replaced teeth? A systematic review and meta-analysis. Clin Oral Investig. 2012 Apr; 16(2): 333-51. doi: 10.1007/s00784-011-0625-9.    
  14. Fukai K, Takiguchi T, Ando Y, Aoyama H, Miyakawa Y, Ito G, Inoue M, Sasaki H. Associations between functional tooth number and physical complaints of community residing adults in a 15-year cohort study. Geriatr Gerontol Int 2009; 9:366-371
  15. Barros SP, Suruki R, Loewy ZG, Beck JD, Offenbacher S. A cohort study of the impact of tooth loss and periodontal disease on respiratory events among COPD subjects: Modulatory role of systemic biomarkers of inflmmation. PLoS One 2013 Aug 8; 8(8): e68592.
  16. Saarela RK, Soini H, Hiltunen K, Muurinen S, Suominen M, Pitkälä K. Dentition status, malnutrition and mortality among older service housing residents. J Nutr Health Aging 2014 Jan; 18(1): 34-8. doi: 0.1007/s12603-013-0358-3.
  17. Hayasaka K, Tomata Y, Aida J, Watanabe T, Kakizaki M, Tsuji I. Tooth loss and mortality in elderly Japanese adults: Effect of oral care. J Am Geriatr Soc 2013 May; 61(5): 815-820. doi: 10.1111/jgs.12225. Epub 2013 Apr 16.
  18. Ando Y. Mastication and nutrition ingestion, dental health care to lengthen the healthy life-span (edited by Japan Dental Research Institute). Tokyo: Ishiyaku Publishers, Inc.; 2009. 104-111.
  19. สำนักทันตสาธารณสุข กรมอนามัย. การสำรวจสภาวะทันตสุขภาพแห่งชาติครั้งที่ 7 พ.ศ. 2555.
  20. Curnow MMT, Pine CM, Burnside G, Nicholson JA, Chesters RK, Huntington E. A randomized controlled trial of the efficacy of supervised toothbrushing in high-caries-risk children. Caries Res. 2002,36:294-300.

ผู้เขียน/ผู้จัดทำ

ดร.เพ็ญแข ลาภยิ่ง