23 ก.ย. 22 | 126 ครั้ง

เมื่อวันที่ 21 กันยายน 2565 คณะกรรมมาธิการสาธารณสุข วุฒิสภา ได้เชิญผู้แทนจากทันตแพทยสภาร่วมเป็นวิทยากรในงานเสวนา “การถ่ายโอน รพสต. และภารกิจปฐมภูมิ จากกระทรวงสาธารณสุขไปยัง อบจ.จะไร้รอยต่ออย่างไร” 

ผศ.ดร.ทพ.สุชิต พูลทอง นายกทันตแพทยสภา ดร.ทพ. ธงชัย วชิรโรจน์ไพศาล อุปนายกทันตแพทยสภาคนที่ 1 และ ทพญ.วรารัตน์ ใจชื่น ผู้ช่วยเลขาธิการทันตแพทยสภา ได้เข้าร่วมเวทีเสวนาในครั้งนี้ 

ทันตแพทยสภาได้อภิปรายถึงมุมมองต่อการถ่ายโอน รพสต. ใน 3 ประเด็น คือ 

ประเด็นที่ 1 เมื่อมีการถ่ายโอนทันตาภิบาลใน รพ.สต. ไปยัง อบจ. และโอนภารกิจปฐมภูมิด้านทันตกรรม ไปอยู่กับ อบจ. นั้นแม้จะมีปัญหาและความไม่แน่ชัดในระเบียบ กฎเกณฑ์ต่างๆ แต่ในระยะยาวแล้วทันตแพทยสภามองว่าจะเป็นโอกาสในการพัฒนาระบบบริการปฐมภูมิด้านทันตกรรม หาก อบจ.มีการสนับสนุนทรัพยากรต่าง ๆ เข้ามาดูแลเพิ่มเติม จะทำให้คนในพื้นที่มีสุขภาพช่องปากที่ดีขึ้นได้ 

ประเด็นที่ 2 เรื่องการควบคุมดูแลการประกอบวิชาชีพทันตกรรมของทันตาภิบาล จากระเบียบของกระทรวงสาธารณสุข ปี 2539 และ 2559 ที่ระบุให้ทันตาภิบาลสามารถทำฟันได้ภายใต้การดูแลของเจ้าหน้าที่เป็นผู้ประกอบวิชาชีพทันตกรรม ซึ่งระบบเดิมจะเป็นทันตแพทย์ที่อยู่ในโรงพยาบาลชุมชนที่จะเป็นผู้ควบคุมดูแลทันตาภิบาล โดยในแต่ละจังหวัดมีการดำเนินการแตกต่างกันไป ทันตแพทยสภาได้เคยมีข้อเสนอแนะว่า ควรจะมีการระบุอย่างเป็นลายลักษณ์อักษรว่า ทันตแพทย์ท่านใดเป็นผู้ดูแลทันตาภิบาลท่านใด แต่เมื่อ รพ.สต.โอนย้ายไปอยู่กับ อบจ. แล้ว ในระยะยาว ยังคงมีความจำเป็นที่ทาง อบจ. จะต้องมีทันตแพทย์ในสังกัดของ อบจ. เพื่อทำหน้าที่นี้ แต่ในระยะเปลี่ยนผ่าน ควรจะเป็นข้อตกลงระหว่าง อบจ. และ สสจ. ที่จะให้ทันตแพทย์ของกระทรวงสาธารณสุขควบคุมดูแลทันตาภิบาลที่สังกัด อบจ. ไปพลางก่อน เพื่อไม่ให้เกิดผลกระทบต่อการจัดบริการทันตกรรมให้แก่ประชาชน 

ประเด็นที่ 3 เรื่องภารกิจปฐมภูมิด้านบริการทันตกรรมที่ควรจะให้มีทันตแพทย์เข้ามาสนับสนุนการจัดบริการในหน่วยบริการปฐมภูมิและเครือข่ายปฐมภูมิในรูปแบบต่างๆ เพื่อให้ประชาชนสามารถเข้าถึงบริการทันตกรรมได้มากขึ้นกว่าเดิม ทันตแพทยสภาสนับสนุนสัดส่วนที่เหมาะสมสำหรับทีมทันตบุคลากรในระบบบริการปฐมภูมิ คือ ทันตแพทย์ 1 คน ทันตาภิบาล 2 คน ดูแลประชากร 10,000 คน ทั้งนี้มีข้อเสนอโมเดลในการบริหารจัดการเช่น รูปแบบการจ้างงานทันตแพทย์ อบจ.การจ้างงานทันตแพทย์ให้มาบริการแก่ประชาชนใน รพ.สต.โดยตรง หรือจะเป็นการจ้างทันตแพทย์เอกชนเวียนมาให้บริการใน รพ.สต. หรือจะใช้ระบบรถทันตกรรมเคลื่อนที่เข้ามาให้บริการแก่ประชาชนในพื้นที่ที่ห่างไกลจาก รพ.สต. นอกจากนี้อาจจะเป็นรูปแบบการส่งผู้ป่วยที่จำเป็นต้องได้รับรักษาทางทันตกรรมที่อยู่นอกขอบเขตความสามารถของทันตาภิบาล ส่งต่อให้โรงพยาบาลในสังกัดกระทรวงสาธารณสุขดูแลต่อ โดย อบจ.จะตามจ่ายให้โรงพยาบาลในอัตราที่ตกลงกัน (อาจใช้อัตราการจ่าย OP anywhere ที่สปสช. กำหนดไว้) หรือ ส่งต่อให้ทันตแพทย์ในคลินิกทันตกรรมเอกชนรักษาต่อ โดย อบจ. จะตามจ่ายให้คลินิกทันตกรรมในอัตราที่ตกลงกัน และคนไข้อาจจะต้องร่วมจ่ายบางส่วน 

 

หากหน่วยงานต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องได้มาร่วมกันคิด ร่วมกันหาทางออก เราจะได้ระบบบริการปฐมภูมิด้านทันตกรรมที่สามารถดูแลผู้ป่วยได้อย่างต่อเนื่อง ดูแลประชากร 10,000 คนโดยทีมทันตแพทย์ 1 คน ทันตาภิบาล 2 คนมาร่วมกันทำงานทั้งส่งเสริม ป้องกัน รักษาพื้นฐานและรักษาเฉพาะทางที่ไม่ยุ่งยากซับซ้อน จะทำให้ในระยะยาว เราจะสามารถบรรลุเป้าหมาย อายุ 80 ปีมีฟันใช้งาน 20 ซี่ได้

 

คณะอนุกรรมการประชาสัมพันธ์และสื่อสารองค์กร

23 กันยายน 2565

#TDC10 #รพสต